เบื้องหลัง ของ เอเลี่ยน (แฟรนไชส์)

หลังถ่ายทำภาพยนตร์ ดาร์ก สตาร์ (1974) เสร็จ นักเขียนบท แดน โอแบนนอน ต้องการพัฒนาแนวคิดบางอย่าง (โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง "มนุษย์ต่างดาวล่าลูกเรือผ่านยานอวกาศ") และสร้างภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์โลดโผน ใช้ชั่วคราวว่า เมโมรี โครงการนี้มีนักเขียนบทภาพยนตร์ โรนัลด์ ชูเซตต์ ร่วมมือด้วย โดยชูเซตต์แนะนำให้เพิ่มองค์ประกอบจากแนวคิดภาพยนตร์เรื่องอื่นของโอแบนนอน ก็คือ เกรมลินส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเกรมลินที่สร้างความปั่นป่วนบนเครื่องบินทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังทั้งสองคนเขียนบทภาพยนตร์เสร็จ ช่วงแรกใช้ชื่อว่า สตาร์ บีสต์ —ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น เอเลี่ยน หลังโอแบนนอนสังเกตเห็นจำนวนครั้งที่คำว่า เอเลี่ยน ปรากฏอยู่ในบทภาพยนตร์[8][9] บทภาพยนตร์ถูกขายให้กับ แบรนดีไวน์โปรดักชันส์ บริษัทก่อตั้งโดย ผู้อำนวยการสร้าง กอร์ดอน แคร์โรลล์, เดวิด ไกเลอร์และวอลเตอร์ ฮิลล์ ซึ่งมีข้อตกลงการจัดจำหน่ายกับทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ (ทเวนตีท์เซนจูรีสตูดิโอส์ ปัจจุบัน) เหล่านักเขียนคาดว่ามันจะเป็นภาพยนตร์ที่มีทุนสร้างต่ำ แต่ด้วยความสำเร็จของ สตาร์ วอร์ส ทำให้มีแนวโน้มที่ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์จะลงทุนด้วยจำนวนเงินหลายล้าน[10]

ในบทภาพยนตร์เดิม ลูกเรือยานอวกาศเป็นผู้ชายทั้งหมด (แม้ว่าในส่วนของ "ตัวละครของนักแสดง" จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ลูกเรือเป็นทั้งสองเพศและทุกส่วนสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง") รวมถึงตัวละครริปลีย์ ซึ่งจะแสดงโดย ทอม สเกอร์ริตต์ ต่อมา อลัน แลดด์ จูเนียร์ ประธานของฟอกซ์และผู้อำนวยการสร้างที่แบรนดีไวน์ได้ยินข่าวลือว่าฟอกซ์กำลังทำงานภาพยนตร์เรื่องอื่นที่แสดงนำโดยผู้หญิงแกร่ง จึงได้มีการตัดสินใจให้บทของริปลีย์เป็นผู้หญิงและสเกอร์ริตต์ให้แสดงเป็นกัปตันดัลลาสแทน ก่อนเริ่มการถ่ายทำ เวโรนิกา คาร์ตไรต์ ถูกเลือกให้แสดงบทรีปลีย์ แต่ผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อต เลือก ซิกอร์นีย์ วีเวอร์ แทนหลังจากที่เขาดูทดสอบหน้ากล้องของเธอ[8][11] ทำให้คาร์ตไรต์เล่นเป็นคนนำทางแลมเบิร์ตในภาพยนตร์แทน ซึ่งเป็นลูกเรือคนสุดท้ายที่ถูกสังหาร

เอช. อาร์ ไกเกอร์ จิตรกรและช่างแกะสลักชาวสวิส เป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยนในร่างโตเต็มวัยและซากยานอวกาศ ขณะที่ เมอบิอุส ศิลปินชาวฝรั่งเศส สร้างรูปลักษณ์ของชุดอวกาศและ รอน คอบบ์ ออกแบบฉากในการถ่ายทำ[12][8][13]

ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ นั้นประสบความสำเร็จ ฟอกซ์ไม่ได้ตัดสินใจให้มีการสร้างภาคต่อในทันที จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1983 เมื่อ เจมส์ แคเมรอน แสดงความสนใจต่อผู้อำนวยการสร้าง เดวิด ไกเลอร์ ที่ต้องการจะสานต่อเนื้อเรื่องของ เอเลี่ยน หลัง ฅนเหล็ก 2029 ของแคเมรอนกลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมในบ็อกซ์ออฟฟิศ แคเมรอนและเกล แอนน์ เฮิร์ดได้รับการอนุมัติให้กำกับและสร้างภาคต่อ เอเลี่ยน กำหนดฉายปี ค.ศ. 1986[14] แคเมรอนเขียนบทภาพยนตร์จากเนื้อเรื่องที่เขาพัฒนาขึ้นมากับไกเลอร์และวอลเตอร์ ฮิลล์

หลังจากภาพยนตร์ภาคที่สองฉายแล้ว วีเวอร์ไม่สนใจที่จะกลับมารับบทเดิม ทำให้ผู้อำนวยการสร้าง เดวิด ไกเลอร์และวอลเตอร์ ฮิลล์ ต้องสร้างภาพยนตร์ เอเลี่ยน ภาคที่สามโดยที่ไม่มีตัวละครรีปลีย์ แต่ โจ รอธ ประธานของฟอกซ์ ไม่เห็นด้วยกับการไม่มีตัวละครรีปลีย์ และวีเวอร์ได้รับข้อเสนอด้วยเงินเดือนจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐและให้มีชื่อเป็นผู้อำนวยการสร้างใน เอเลี่ยน 3 อสูรสยบจักรวาล ภาพยนตร์ฉายเมื่อปี ค.ศ. 1992 ภาพยนตร์ดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น การถ่ายทำเริ่มต้นทั้ง ๆ ที่บทภาพยนตร์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และได้ใช้เงินไปแล้ว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับมิวสิควิดีโอ ถูกจ้างให้เป็นผู้กำกับแทน[15] ไกเลอร์, ฮิลล์และแลร์รี เฟอร์กูสัน เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์จากเนื้อเรื่องของบทภาพยนตร์ก่อนหน้านี้โดย วินเซนต์ วอร์ด หลังจากการถ่ายทำเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี ค.ศ. 1991 สตูดิโอได้นำภาพยนตร์กลับมาทำใหม่ โดยที่ เดวิด ฟินเชอร์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับการยินยอม[16] การเสียชีวิตของริปลีย์ถูกออกแบบให้เป็นการปิดฉากแฟรนไชส์ เอเลี่ยน โดยการสังหารตัวละครหลัก

ขณะที่การตอบรับของ เอเลี่ยน 3 อสูรสยบจักรวาล จากแฟนและนักวิจารณ์นั้นไม่ดีนัก แต่ภาพยนตร์กลับทำเงินได้ดีในบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก ทำให้ฟ็อกซ์สนใจในการสานต่อแฟรนไชส์ เมื่อปี ค.ศ. 1996 การสร้างภาพยนตร์เอเลี่ยนเรื่องที่สี่ เอเลี่ยน 4 ฝูงมฤตยูเกิดใหม่ ก็เริ่มขึ้น ริปลีย์นั้นไม่อยู่ในบทร่างแรกของบทภาพยนตร์และวีเวอร์ไม่สนใจที่จะกลับมารับบทเดิม สุดท้ายเธอก็กลับมาเข้าร่วมโครงการหลังได้รับข้อเสนอด้วยเงินเดือนจำนวน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีอำนาจในการควบคุมความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น รวมถึงการอนุมัติของผู้กำกับ บทดำเนินเรื่อง 200 ปีหลังเหตุการณ์ใน เอเลี่ยน 3 อสูรสยบจักรวาล ฟิ้นคืนชีพตัวละครริปลีย์โดยการโคลนนิ่งมนุษย์[17] ภาพยนตร์กำกับโดย ฌอง-ปีแอร์ จูเนต์ และฉายเมื่อปี ค.ศ. 1997 ภาพยนตร์ประสบปัญหาการถ่ายทำที่ยืดเยื้อและถูกอธิบายโดยผู้เขียนบท จอสส์ วีดอน ว่าทำ ทุกอย่างผิดไปหมด จากบทของเขา[18]

ใกล้เคียง

เอเลี่ยน เอเลี่ยน (แฟรนไชส์) เอเลี่ยน (สัตว์ประหลาดในแฟรนไชส์เอเลี่ยน) เอเลี่ยน ส.วีระวรรณ เอเลี่ยน 4 ฝูงมฤตยูเกิดใหม่ เอเลี่ยน: โคเวแนนท์ เอเลี่ยน vs พรีเดเตอร์ vs เทอร์มิเนเตอร์ เอเลี่ยน 2 ฝูงมฤตยูนอกโลก เอเลี่ยน: โคโลเนียล มารีนส์ เอเลียน (วิดีโอเกม พ.ศ. 2527)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอเลี่ยน (แฟรนไชส์) http://www.bullz-eye.com/mguide/interviews/2005/jo... http://www.insidepulse.com/article.php?contentid=4... http://www.metacritic.com/movie/alien http://www.metacritic.com/movie/alien-3 http://www.metacritic.com/movie/alien-covenant http://www.metacritic.com/movie/alien-resurrection http://www.metacritic.com/movie/aliens http://www.metacritic.com/movie/prometheus http://www.sensesofcinema.com/2003/great-directors... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,9...